หน้าหลัก > ข่าว > ข่าวประชาสัมพันธ์ > มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

admin account
2018-10-25 08:39:55

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดรับกับแนวปฏิบัติของ Inclusive Framework on BEPS ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH1) ยุติการรับจดแจ้ง ROH1 รายใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป และให้ ROH1 ในปัจจุบันได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 นอกจากนั้น ให้ค่าสิทธิที่ ROH1 ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2. มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters : ROH2) ให้ ROH2 ในปัจจุบันได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 10 หรือ 15 รอบระยะเวลาบัญชีตามกฎหมาย ROH2 นอกจากนั้น ให้ค่าสิทธิที่ ROH2 ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ การจดแจ้งราย ROH2 ได้ยุติไปตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 แล้ว

3. มาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) ยุติการอนุมัติรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 และให้ IHQ ในปัจจุบันได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีตามกฎหมาย IHQ

4. มาตรการภาษีเกี่ยวกับบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center : ITC) ยุติการอนุมัติรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 และให้ ITC ในปัจจุบันได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปจนครบระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีตามกฎหมาย ITC

เนื่องจากกระทรวงการคลังเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Centre หรือ IBC) เพื่อทดแทนมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH1, ROH2 และ IHQ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการในคราวเดียวกันนี้ด้วย โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการให้บริการหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ และค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศเหลือร้อยละ 8 หรือ 5 หรือ 3 ของกำไรสุทธิตามรายจ่ายในประเทศไทย 60 ล้านบาท หรือ 300 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาท แล้วแต่กรณี

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ

3. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ

4. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IBC เหลือร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน

5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IBC

เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี IBC จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

1. มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

2. มีรายจ่ายในประเทศอย่างน้อย 60 ล้านบาท (ROH1, ROH2 และ IHQ ที่เปลี่ยนแปลงเป็น IBC ไม่ต้องใช้เงื่อนไขรายจ่ายของ IBC โดยใช้เงื่อนไขรายจ่ายของ ROH1, ROH2 และ IHQ เดิม)

3. มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน (5 คน กรณีมีเฉพาะการบริหารเงิน)

การปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่และการออกมาตรการภาษีใหม่ข้างต้นจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการให้ความร่วมมือแก่นานาประเทศเพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร

ที่มา : ศูนย์สารนิเทศสรรพากร กรมสรรพากร